RUN EXP : แชร์ประสบการณ์ 1 ปีวิ่ง 3,002 กม. ได้อะไรบ้าง ?

31 พ.ค. 61 เพื่อนคนนึงบอกว่า “วิ่ง 2-4 กม.จะได้อะไร  เหงื่อยังไม่ทันออกเลย  ลอง 8-10 กม.ดูสิ  แล้วจะรู้สึกว่าเราไม่เหมือนเดิม”

1 มิ.ย. 61 กำหนดเป้าหมายจะวิ่งให้ได้วันละ 10 กม.  หรืออย่างน้อย “เดือนละ 200 กิโล”

ผ่านไป 5 เดือน  ได้ 1,5xx กม.

เดือนที่ 7 เน้นเวทและปั่น  จึงละจากวิ่งไปบ้าง

บาดเจ็บจาก TNT60 และ TNF100  จึงหยุดวิ่งเดือนที่ 8 – 9

31 พ.ค. 62 จบเป้าหมายที่ 3,002 กม.

เป็น LONG TIME MISSION ที่ชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะ(บ้า)ทำ

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้รับสิ่งต่างๆมากมายจากการวิ่ง  จุดประสงค์หลักคือได้สุขภาพ  แต่มันมีอะไรเพิ่มเติมมากกว่าได้สุขภาพ  จึงอยากจะบันทึกไว้อ่านย้อนหลัง

 

ได้ทำ & ไม่นึกว่าทำได้

– วิ่ง 10 กม.โดยไม่หยุดเดิน ( เกิดมาไม่เคยคิดว่าจะทำได้ )

– วิ่งระยะ half ได้ภายในเดือนแรก

– วิ่งระยะ half & mini ( 30 กม. ) ได้ภายใน 40 วันแรก

– วิ่งระยะ full ได้ในวันที่ 52

– วิ่ง sub 1 ได้ในวันที่ 120 ( น๊านนนนนาน กว่าจะทำได้ )

– วิ่งเวลาดีสุดของ 10 กม. คือ 54 นาที 25 วิ ( pace 5’26” )

– ได้ลองปั่น 78 กม. ( ซ้อมไว้ เผื่อไปไตร )

– ได้ลองว่าย 2.15 กม. โดยที่ไม่หยุดพัก (เกิดมาไม่เคยทำได้ แต่ลงไตรไว้ เลยเป็นการกดดัน) ใช้เวลา 1 ชม. 2 นาที ( pace 2:54 )  ซ้อมไว้ เผื่อไปไตร

 

ได้สัมผัสงาน

– งานแรกในชีวิต ภูกระดึงวิ่งปลุกป่า 2018 ระยะ 25 กม.  วิ่งขึ้นภูกระดึงระยะทาง 5 กม. แล้ววิ่งบนภูอีก 20 กม.

– งาน 2 เขากระโดงบุรีรัมย์ ระยะ 21 กม. ใช้เวลา 2 ชม. 58 นาที

– งาน 3 บางแสน42 (2018) ระยะ full จบที่ 4 ชม. 47 นาที ( pace 6’40” )

– งาน 4 TNT60 ปี 2018 ระยะ 60 กม. DNF ที่ระยะ 40 กม.

– งาน 5 Thailand Nortface 100 ปี 2019 (TNF100) ระยะ 50 กม.  จบที่ 9 ชม. 26 นาที ( cut off time 9 ชม. 30 นาที ) เกือบ DNF

– งาน 6 Buriram Marathon 2019 ระยะ full  เป็น DNF ครั้งที่สอง เพราะยังมีอาการเจ็บจาก TNF100  ( ยังไม่หาย )

– งาน 7 CWX Trail Academy #4 ของครูหนำ  ฝึกซ้อมการวิ่ง Trail  ได้ความรู้มากๆ  ( เหนื่อยมากด้วย ^^ ) กลับมาขาบวม

– งาน 8 Buriram Bike Fest (2019) งานปั่น 45 กม. รอบสนาม Buriram Circuit 10 รอบ  จบที่ 1 ชม. 34 นาที ( AV 28.5 )

 

ได้เจ็บ

– เล็บม่วง ทั้งนิ้วชี้ซ้ายและขวา  เกิดจากเลือกเบอร์รองเท้าพอดีเกินไปแล้วรัดสายรองเท้าไม่แน่น  ทำให้เล็บชนปลายรองเท้าไปเรื่อยๆ  ทำให้ห้อเลือด  ซักพักก็จะม่วง แล้วม่วงไม่กี่วันเล็บก็จะเริ่มหลุด  มันเจ็บครั้งเดียวคือตอนที่มันเริ่มจะห้อเลือด  หลังจากม่วงก็ไม่เจ็บอีกแล้ว  จนหลุดก็ไม่เจ็บ( ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด )

– งาน TNT60 เจ็บ ITB ข้างเข่าขวาเล็กน้อย  เกิดจาก down hill ผิดวิธี  คือเอียงขาลง  แต่สนามนี้เวทช่วงก้นและขามาค่อนข้างเยอะ  อาการนี้จึงเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  แม้สนามจะโหด   ( อาการนี้เจ็บ 1-2 วันหาย )

– งาน TNT60 กม.ที่ 30 เสื้อเปียก กางเกงเปียก เหงื่อเปียกทั้งตัว  เกิดอาการเสียดสีในกางเกง (กางเกงใน) เป็นบทเรียนสำคัญ  เจ็บแสบมากจนต้องยอม DNF เป็นครั้งแรก  ( อาการนี้ 1-2 วันหาย แต่ทรมานมากเวลาอาบน้ำ T_T )

– งาน TNF100 ระยะ 50 กม.  เจ็บ ITB จุดเดียวกันกับ TNT60  แต่เจ็บหนักมากแม้สนามจะง่ายกว่า TNT60  เจ็บหนักเพราะประมาทงานนี้  ไม่ได้เวท  ไม่ได้เตรียมตัวใดๆมา  ( อาการนี้เจ็บยาว 40 วัน จึงจะกลับมาวิ่งได้ปกติ )

 

ได้ไป

– ภูกระดึง

– เขากระโดง ( ผ่านบ่อยแต่ไม่เคยได้ขึ้น )

– บางแสน

– จ.ราชบุรี  สวยนะ  บรรยากาศดีมาก  แนวๆเขาใหญ่

– เขากระโจม

– ไปเชียงใหม่

 

ไม่ได้ไป

– ลงงาน Tigerbalm ที่เขาใหญ่  แต่ติดงานแต่งญาติ  ปล่อยทิ้ง

– ลงงาน ironman 70.3 ที่บางแสน  แต่ปล่อยทิ้ง  เพราะเจ็บ ITB จากงาน TNF100 ยังไม่หาย  ( ช่วงนั้นวิ่งได้ไม่เกิน 3 กม. จะเจ็บวิ่งต่อไม่ได้ )

 

ได้ใช้

– ใช้รถคุ้มหน่อย  เดินทางไปงานวิ่งจังหวัดต่างๆ

– Asics Kinsei ส้นพัง  ( support ดีมาก แต่หนักไปนิด )

– Brooks Glycerine 14 ปลายรองเท้าทะลุ  ( วิ่งดีมาก แต่เลือก size พอดีเกินไปหน่อย )

– Saucony Kinvara 9 วิ่งมา 2 พัน กม.แว้วววววว   ยังวิ่งเมื่อเย็นนี้อยู่เลย  Unbelievable มากๆ

– ได้รู้จักใช้อุปกรณ์วิ่ง เช่น  ผ้าบัฟ , กางเกงรัดกล้ามเนื้อ , ไวเซอร์ , หูฟัง bluetooth , garmin fenix 5x , สาดรัดเอว , ถุงเท้า injinji   ( ถ้าวิ่งสวนใหม่ก็แค่รองเท้ากับนาฬิกา แต่ถ้าลงแข่งบางงานหลายๆอุปกรณ์มันก็ช่วยได้ )

– ได้รู้จักใช้อุปกรณ์เทรล  เช่น  ไฟคาดหัว , trekking pole , เป้น้ำ , ขวดนิ่ม

– ได้รู้จักใช้อุปกรณ์จักรยาน เช่น  ไฟหน้า  ไฟหลัง  มิเตอร์วัด  ถุงมือ  แว่น  ส่วนอุปกร์อื่นๆไม่อยากรู้มาก  ( ถ้าอยากรู้มาก กลัวจะต้องกินมาม่า )

 

ได้ลองของ

– มิลาโทนิน ช่วยให้หลับ  ใช้เฉพาะคืนก่อนงานแข่ง

– วิตามินเกลือแร่ชนิดเม็ด  โซเดียว , โพรแทสเซียม , แมคนีเซียม , คลอไรล์ , แคลเซียม  ทั้ง 5 ชนิดนี้  ช่วยป้องกันตะคริว

– Energy gel บางยี่ห้อ  กลืนแทบไม่ลง (จำได้เลยกม.ที่ 21 งานบางแสน42)   T_T

 

ได้ประสบการณ์

– วิ่งตากแดดที่สวนใหม่  ตั้งแต่ 11:58 น. – 6 โมงเย็น  (บ้าชมัด)

– ปั่นจักรยานชิวๆ  ในสนามแข่งรถระดับโลก

– ดมฝุ่นในงาน TNF100 – -”  ฝุ่นเย๊อออออออเยอะ

– สัมผัสฝุ่น PM2.5 ที่เชียงใหม่  เมืองขุ่นมัว  มองไม่เห็นภูเขา

– สัมผัสงานสงกรานต์ที่เชียงใหม่

– วิ่งขึ้นภูกระดึง  ครั้งแรกในชีวิต  ครั้งแรกก็หนักเลยวิ่งขึ้น & วิ่งข้างบน & แล้วก็วิ่งลงในวันเดียวกัน ( ไม่ได้พักข้างบน )

– วิ่งขึ้นเขากระโดง

– วิ่งข้ามสะพานลอยน้ำที่บางแสน  เป็นสะพานที่ย๊าวยาวววว

– ขึ้น-ลงเขากระโจม  ข้างบนน๊าววหนาว ( แต่ไปไม่ถึงเขาแหลม – – )

– วิ่งขึ้นดอยปุย ( ไปไม่ถึงยอด )

– วิ่งคนเดียวในป่า+ขึ้นเขา ในที่มืดสนิท ( ตั้งแต่ 5 ทุ่มยันเช้า )

 

ได้พบ

– ไอดอลด้านการวิ่ง

– ไอดอลด้านงานเทรล

– เพื่อนใหม่ตจว.  ที่ชอบอะไรเหมือนๆกัน

 

ได้(ออกไป) Art

– เก็บภาพสวยบ้าง ไม่สวยบ้าง ทุกวันที่สวนใหม่

– วิวสวยๆ  จังหวัดต่างๆที่ไป   โดยเฉพาะบนภู

– จัด composition ภาพที่แตกต่างกันไป(ก่อนโพส)

 

ได้ของแถม

– ฝ้าเม็ดใหม่

– ฝ้าเม็ดเก่า  ขนาดใหญ่ขึ้น  – -”

– หน้าไหม้ + ลอกเป็นแผ่น 3 รอบ  ( full แรกสวนใหม่ , ภูกระดึง , TNF100 )

 

ได้รู้

– เสื้อผ้าบางประเภท  ถ้าวิ่งไปนานๆจะเสียดสี  แสบนม  ต้องเอาพลาสเตอร์แปะหัวไว้

– ผ้าของเสื้อและกางเกงวิ่ง  ควรเลือกชนิดที่ระบายอากาศได้ดี  เพื่อระบายเหงื่อ

– ผ้าของเสื้อและกางเกงวิ่ง  ควรเลือกที่ลื่นๆ  ป้องกันการเสียดสีขณะวิ่ง

– ทุกอุปกรณ์หรือเสื้อผ้าที่แนบชิดตัวเรา  จะมีผลต่อการเสียดสีในขณะวิ่ง  แม้จะสัมผัสผิวเพียงเล็กน้อย  แต่ก็ส่งผลอย่างมากกกกกกถ้าวิ่งระยะไกล  เช่น full

– วิ่งระยะไกล  เหงื่อจะเต็มเสื้อและกางเกง  ผ้าบัฟจะช่วยซับเหงื่อได้  ( เปรียบเสมือนผ้าชามัวร์ซับน้ำรถยนต์ )

– สำหรับผู้หญิงหมวกไวเซอร์และปลอกแขน  หรือเสื้อแขนยาว  จำเป็นมาก  วิ่งหลายชม.แดดเผา  ( ส่วนตัวหลายครั้งที่วิ่งระยะไกล แล้วผิวไหม้เกรียมลอกเป็นแผ่น )

– คำถามยอดฮิต  ใช้นาฬิการุ่นไหนดี  ความเห็นส่วนตัว  ถ้าเริ่มต้นวิ่งใหม่ๆ  Garmin 235 หรือ SUUNTO รุ่นเริ่มต้น   ก็เพียงพอแล้ว

– ส่วนตัววิ่งแบบไม่ใช้นาฬิกามาตลอด 1000 กม.แรก  โดยใช้มือถือจับ GPS ควบคู่กับแอพ NIKE RUN และ ANDROMONDO  ( ใส่มือถือในสายคาดเอว )

– รองเท้าทางราบ ( Road ) ควรเผื่อเบอร์ซัก ครึ่งเบอร์  ( ความคิดส่วนตัว )

– รองเท้าทางเทรล ( Trail ) ควรเผื่อเบอร์ซัก 1 เบอร์  ( ความคิดส่วนตัว )

– รองเท้าไม่ควรเลือกตามแฟชั่นหรือคนอื่น  ควรไปลองของจริง  แล้วเลือกให้เหมาะสมกับเท้าเรา  ลักษณะการวิ่งของเรา  โดยไม่ควรซื้อตามใคร

– น้ำหนักรองเท้าต่างกันไม่กี่กรัม   มีผลต่อการวิ่ง

– รองเท้าเบา  มักจะ support ไม่ดี   รองเท้าหนัก  มักจะทำ speed ไม่ดี

– ระยะ drop ของรองเท้าที่ต่างกันเพียงไม่กี่ ซม. ก็มีผลต่อความตึงของน่องและเอ็นร้อยหวาย

– การหายใจของรองเท้าก็สำคัญ  วัสดุรองเท้าที่เลือกใช้  ควรระบายอากาศได้ดี

– รองเท้าทางราบ  ไม่ควรเอาไปวิ่งเทรล  เดี๋ยวจะลื่น   ควรแยกชนิดรองเท้าในแต่ละประเภทของการวิ่ง

– รองเท้าแตะยี่ห้อ OOFOS โคตรดีเลย  ลองดูสิ  ( ติดหนึบกันแทบทุกคนที่วิ่งประจำ )

– ไม่น่าเชื่อว่าการผูกเชือกรองเท้า  ก็มีผลต่อการวิ่ง  โดยเฉพาะงานเทรล

– อาการเล็บม่วง  มากกว่า 80% เกิดจากนิ้วเท้าไปจิ้มชนกับปลายรองเท้า ในขณะ down hill

– เผื่อรองเท้าเทรล 1 เบอร์  แล้วมัดเชือกรองเท้าเทรลให้แน่นมากๆ  ป้องกันนิ้วเท้าไหลไปชนปลายรองเท้า  ป้องกันเล็บม่วง  เล็บหลุด

– ชุดหรือกางเกงรัดกล้ามเนื้อ  มีผลช่วยได้จริงไหม ? ส่วนตัวคิดว่ามีผลระดับหนึ่ง  แต่ก็ไม่มากเท่ากับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  ซ้อมให้เยอะไว้ดีกว่าการให้เสื้อผ้าช่วย

– โซเดียม และเกลือแร่อีก 4 ชนิด  ช่วยป้องกันตะคริว

– ตะคริวไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกลือแร่เท่านั้น  ขึ้นอยู่กับขีดจำกัดเดิมของร่างกายที่เคยซ้อมมาด้วย

– ปริมาณโซเดียมในร่างกายมีมาก  จะทำให้บวมน้ำ  ไตเสียหาย

– release โซเดียมออกจากร่างกายได้ด้วยการสูญเสียเหงื่อ

– ที่เหงื่อเค็ม  แห้งมีคราบเกลือ  ก็เพราะมีปริมาณโซเดียมออกมากับเหงื่อ

– โซเดียมมีในอาหารที่เรากินกันประจำ  ซอส  ซีอิ๊ว น้ำปลา ฯลฯ  มีโซเดียมเยอะแล้ว   ไม่ต้องเติมเสริมจากสปอนเซอร์ก็ได้

 

ได้นิยาม TNK.Theory

“ร่างกายมนุษย์ไม่มีคำว่า Limit (ข้อจำกัด)  ร่างกายเราพร้อมจะขยายขีดจำกัดอยู่เสมอ”

“มากหรือน้อย  ไม่ได้อยู่ที่ใคร define ?  ตัวเราเท่านั้นที่จะรู้ Limit ร่างกายของเรา”

“ใจเราต้องนำทางไปก่อน  แล้วร่างกายเราจะตามไปถึงเส้นชัยเอง”

ตอนวิ่งเราเหนื่อยมากขนาดไหน พอกลับบ้านอาบน้ำ เราจะสุขมากขนาดนั้น

“อยากทำอะไรให้สำเร็จ  ลองตั้งเป้าหมาย  แล้วโพสลงเฟสแบบ public ดูสิ  นั่นจะเป็นข้อผูกมัดให้เราทำให้ได้ ^^ ”

“การกำหนดเป้าหมายจะช่วยลดความขี้เกียจของเราได้  เพราะถ้าวันไหนขี้เกียจ  จะทำให้วันถัดไปเหนื่อยเพิ่มขึ้น”

“ความฟิต  คือข้อจำกัดของร่างกายที่เราไปถึง ณ ช่วงเวลานั้น”

“ความฟิต  พัฒนาด้วยการขยายขีดจำกัดเดิมๆที่เราเคยทำได้”

“การได้ออกกำลังกายเป็นประจำ  คือสิ่งที่ดีอันดับต้นๆที่ชีวิตต้องการ”

“เวลาชีวิตมีจำกัด  มุ่งมั่นจะทำอะไรแล้วไม่เดือดร้อนผู้อื่น  ทำเลย  อย่ารอเวลาพร้อม”

 

ได้นิยาม จากครู & idol

– ได้ความรู้จาก ครูหนำ & อาจารย์นที & พี่เจ & พี่ป้อม สัญญา  เยอะมากกกกกกก  แต่ไม่ขอนำมาเขียน  และแนะนำให้เข้าแคมป์ CWX Trail Academy เอาเอง

– โดยเฉพาะอาจารย์นที  ความรู้หลากหลายและแน่นมากๆ   ฟังแล้วทึ่ง  คือฟังทั้งเดือนก็คงไม่หมด  อาจารย์ข้อมูลเยอะมาก

– ได้คำแนะนำจาก  เฮียอั๋น  ปู  พี่นุ๊ค  พี่บอย  พี่ๆน้องๆในสุรินทร์  และเพื่อนใน CWX Trail Academy เยอะ  จากที่ไม่รู้เรื่องอะไรกะเขาเลย   ก็เริ่มพอจะรู้บ้าง

 

ได้อยู่กับตัวเอง

– ช่วงวิ่งเราจะมีสมาธิ  มีเวลา  ได้จินตนาการ  ได้คิดนู่นนี่  แบบที่ไม่มีอะไรรบกวน   ( หลายๆไอเดียและแนวคิด เกิดขึ้นที่สวนใหม่ )

– เป็นช่วงเวลาของการ Solv ปัญหาได้ดี

– แม้การวิ่งจะสลัดเราหลุดออกมาจากความสบาย   แต่การวิ่งก็ช่วยให้หลุดของจากความเครียดประจำวันได้เช่นกัน

– ออกจาก Comfort Zone และ Stress Zone  ( หลุดออกจากบ้าน , หลุดออกจากที่ทำงาน )

 

ได้พิสูจน์ตัวเอง

– ไม่ขี้เกียจ  ไม่มีข้ออ้าง  การออกกำลังกาย

– รักษาความสม่ำเสมอ  ให้ครบปีให้ได้

– รักษาวินัย  ไปให้ถึงเป้าหมาย 3000 กม. / ปี

 

ได้ช่วยคนใกล้ตัว

– ได้พาพ่อกับแม่ไปเดินที่สวนใหม่ด้วยกันทุกวัน

– ได้ชวนคนรู้จัก  คนใกล้ชิด  ให้เริ่มดูแลสุขภาพ

– หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจ  ให้คุณผู้อ่าน  จะได้เริ่มสตาร์ทดูแลสุขภาพ   ^_^

 

“ความสุขที่แท้จริง  คือสุขภาพที่แข็งแรง”

 

“รักใคร  หวังดีกับใคร  โปรดชวนเขาออกกำลังกาย”